วันพุธที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ความหมายของความสุข















ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศภูฏาน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจทราบแล้วว่าประเทศภูฏานเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่อง “ความสุข” ประเทศนี้มีดัชนีชี้วัดความสุข (Gross National Happiness) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเมื่อผู้เขียนได้พูดคุยกับคนภูฏาน ต่างก็พูดตรงกันว่าเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาคือ ความสุข และหากสังเกตการใช้ชีวิตของคนภูฏาน จะพบว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และด้วยสาเหตุนี้เอง อาจทำให้พวกเขาเข้าใจตนเองและเข้าถึงความต้องการของชีวิตได้อย่างตรงไปตรงมา

ดังนั้น เมื่อทุกคนในประเทศมีเป้าหมายร่วมกันคือ ความสุข ดังนั้นภารกิจหลักของประชาชนก็คือ การนิยามว่า ความสุข คืออะไร และทำอย่างไรจะทำให้ชีวิตมีความสุข ในฐานะที่คนภูฏานนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ดังนั้นคำสอนของศาสนาจึงเข้าไปสู่วิถีชีวิตของคนภูฏานในทุกรูปแบบ สังเกตทุกบ้าน ทุกอาคารสถาน จะมีสัญลักษณ์ ที่เป็นคำสอนของศาสนาพุทธอยู่ทั่วไปหมด หันไปทางไหนก็จะพบกับสัญลักษณ์ทางศาสนาในมุมต่าง ๆ ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่า การนิยามความหมายของคำว่า ความสุขของคนภูฏาน ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับคำสอนทางศาสนานั่นเอง

ประเทศภูฏานได้รับการขนานนามว่าเป็นอารยธรรมสุดท้ายของโลก (ที่ยังไม่เป็นพวกวัตถุนิยม) ท่ามกลางหุบเขา และธรรมชาติอันงดงาม ประเทศภูฏานสามารถอนุรักษ์สภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และดูเหมือนผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศนี้ แม้จะเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจด้านการโรงแรม ต่างก็มีจิตสำนึกที่จะธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติแบบดั้งเดิม แทนที่จะบ่อนทำลายแบบ “ที่ดินฉันเรื่องของฉัน” โดยการสร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่เข้าพวกกับใครโดยรอบเลย แต่การสร้างบ้านเรือนหรือสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศภูฏานนั้น เป็นไปอย่างมีแบบแผน อย่างเข้าใจสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม และเข้าใจชุมชน โดยที่ชาวบ้านธรรมดา หรือชาวนานั้น สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ ในแบบที่เป็นศิลปะดั้งเดิม ที่คนภูฏานภาคภูมิใจ บ้านเรือนมีรูปทรงสวยงาม ประดับประดาด้วยไม้ โดยเฉพาะประตูหน้าต่างทาสีสวยงาม มีรายละเอียดปลีกย่อยที่พิถีพิถัน นอกจากนั้นยังคงทนแข็งแรง บางหลังสร้างขึ้นมาจากดิน ซึ่งสามารถอยู่ได้หลายร้อยปีเลยทีเดียว ผู้เขียนไม่ทราบว่า รัฐบาลภูฏานดูแลเรื่องนี้อย่างไร แต่ที่แน่นอนคือการสร้างบ้านไม่ได้เป็นเรื่องสิ้นเปลืองในชีวิตของคนภูฏานเลย และเมื่อทุกคนมีบ้าน ก็ย่อมมีความมั่นคงในชีวิต สามารถสร้างครอบครัวใหญ่ ที่มีคนหลายรุ่นอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน คนภูฏานเป็นคนมีน้ำใจงาม ผู้เขียนมีโอกาสขอเยี่ยมชมบ้านของชาวนา พวกเขาให้การต้อนรับคนไทยเป็นอย่างดี พาไปเยี่ยมชมห้องต่าง ๆ อย่างเปิดเผย แม้ห้องต่าง ๆ จะมอมแมมตามการใช้งาน แต่ห้องพระได้รับการจัดไว้อย่างปราณีต เพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในครอบครัว ผู้เขียนไม่แปลกใจว่าทำไม ประชาชนภูฏานจึงมีความสุข ถึงแม้รายได้ต่อหัวของประเทศจะต่ำ แต่ความมั่นคงในชีวิตประชาชนนั้น สูงมากเลยทีเดียว นั่นเอง ทำให้พวกเขามีความมั่นใจ เพราะเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิตว่าต้องการอะไร ไม่ต้องอับอายในความยากจนที่ถูกนิยามด้วยประเทศอื่น เพราะมนุษย์ทุกคนก็ต้องเดินสู่เส้นทางของการแสวงหา ความสุขที่แท้จริง เช่นกัน

ดังนั้นคนภูฏานโดยทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้สึกอยากจะไปแข่งขันกับใคร เพราะชีวิตค่อนข้างพอเพียงแล้ว รุ่นลูกรุ่นหลานก็สามารถส่งเข้าโรงเรียนได้หมด เด็กชาย เด็กหญิงสามารถบวชเรียนเป็นสามเณร หรือสามเณรีได้ ฆราวาสกับพระมีชีวิตที่ใกล้ชิดกันมาก สถานที่ราชการและวัดก็อยู่ที่เดียวกัน เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมรัฐสภา โบสถ์พระก็อยู่ในรั้วเดียวกันนั่นเอง ทำให้รู้สึกว่าการทำงานกับความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ถูกแบ่งแยกออกจากกัน อย่างน้อยคนทำงานย่อมจะต้องมีจิตสำนึกในชีวิตประจำวันที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่มากก็น้อย

ผู้เขียนรู้สึกว่า มนุษย์ที่ล้วนแสวงหาสัจจธรรมในชีวิตนั้น ย่อมจะต้องมีความพยายามที่จะศึกษาเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น สภาพภายในจิตใจของผู้ที่อยู่บนเส้นทางของความเพียร อย่างเช่นชาวบ้านภูฏานนั้น จึงจะฉายออกมาทางกายภาพ ที่แทรกปรัชญา หรือสัญลักษณ์ทางศาสนาตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อการศึกษาเรียนรู้ ไว้เตือนสติเตือนใจ แม้ศาสนาพุทธจะเน้นเรื่อง ความว่าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ว่างเปล่าแบบไม่มีอะไรเลย หากแต่ว่างจากกิเลส ว่างจากตัวตน ดังนั้นไม่ใช่ว่าบ้านเรือจะว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย แต่เป็นสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ จะเห็นได้ว่าชาวบ้านภูฏานจึงมีความเป็นตัวตนน้อยมาก เด็กนักเรียนมาพูดคุย ร้องเพลง เต้นระบำให้ชาวต่างชาติอย่างพวกเราดูอย่างเป็นมิตร พระภูฏานนำขนมปังมามอบให้พวกเรารับประทานเล่นอย่างเป็นกันเอง เมื่อเห็นคณะคนไทยนั่งประชุมกันในวัดของท่าน ความมีน้ำใจยังคงมีอยู่ในชีวิตประจำวันของคนภูฏานอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าในประเทศไทยนั้น คงหลงเหลือธรรมชาติความดีนี้อยู่บ้าง ถ้าไม่ถูกแทนที่ด้วยความหวาดระแวงที่เป็นโรคร้ายแทรกซึมมากับโลกของวัตถุนิยมเสียก่อน

การเยือนประเทศภูฏานครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นว่า ความสุข เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้ออีกต่อไป เพียงแต่จะยอมเปิดใจมองเห็นหรือไม่เท่านั้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม และโลก บางครั้งการมีชีวิตอยู่อาจจะต้องเหลือบมองเพื่อนบ้านของเราบ้างว่าอยู่กันอย่างไร และจะดูแลกันอย่างไร หลายครั้งที่ผู้เขียนอดนึกย้อนกลับมาประเทศไทยไม่ได้ว่า จะเป็นอย่างไรหนอ หากบ้านเมืองเราโดยทั่วไป จะมีสถาปัตยกรรมที่เข้าใจความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาจิตใจ เข้าใจสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม โดยไม่แปลกแยกออกจากธรรมชาติ และชาวบ้านธรรมดาก็สามารถมีบ้านในลักษณะนั้น ที่เป็นศิลปะแบบไทย ๆ เป็นของตนเองได้ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับการมีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม และประเทศ

คงเป็นการบ้านสำหรับผู้บริหารบ้านเมือง ว่าจะนำพาสังคมไทยให้พบกับความสุขอย่างไร ต้องถามว่าจะลุกขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านจิตใจให้กับเพื่อนร่วมโลกได้หรือยัง หรือจะวิ่งตามประเทศอื่นที่มีความทุกข์อย่างนี้ตลอดไป ซึ่งถ้าหากจะเริ่มวันนี้ก็คงไม่สาย โดยก่อนอื่น คงจะต้องมาร่วมนิยามกันว่า ความสุขที่แท้จริง คืออะไร...

ไม่มีความคิดเห็น: